ในช่วงนี้จะเห็นว่าเทรนด์ที่มาแรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่คือเรื่องการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารคลีน การใส่ใจตรวจสุขภาพ และการเริ่มออกกำลังกายที่กลายเป็นไลฟ์สไตล์ยอดฮิต โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่หันมาออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้น แต่ก็มีหลาย ๆ คนที่รีบร้อนเริ่มออกกำลังกายจนไม่ได้เตรียมร่างกายให้พร้อม ใช้อุปกรณ์ไม่เหมาะสม และออกกำลังกายไม่ถูกวิธี ส่งผลให้ร่างกายเจ็บและปวดยิ่งกว่าเดิม วันนี้ นพ. ปฐมฉัฐ พิสิฐวัฒนาภรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลวิมุต จะมาเล่าถึงข้อควรรู้ก่อนออกกำลังกายที่คนมองข้าม พร้อมแชร์เคล็ดลับเพื่อให้ทุกคนฟิตร่างกายได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวเจ็บ
รู้ก่อนเริ่ม! ใครเสี่ยงเจ็บจากการออกกำลังกาย

สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก่อนเริ่มออกกำลังกายคือการรู้ขีดจำกัดของร่างกายตัวเองเพราะการออกกำลังกายแบบหักโหมโดยไม่เตรียมตัวให้พร้อมอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน คนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม หรือคนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน “แพทย์แนะนำว่ากลุ่มนี้ควรตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อน เช่น วัดความดันโลหิต เช็กสมรรถภาพหัวใจ และประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้รู้ขีดจำกัดของร่างกายตัวเอง และนำไปวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาพร่างกายมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นควรเลือกกิจกรรมที่แรงกระแทกน้อย เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยานช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ลดโอกาสบาดเจ็บที่อาจตามมา” นพ. ปฐมฉัฐ พิสิฐวัฒนาภรณ์ อธิบาย

ออกกำลังกายก็ดี แต่ออกให้ถูกวิธีดีที่สุด
เมื่อรู้ขีดจำกัดของร่างกายแล้ว ขั้นต่อไปคือเริ่มออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ถ้าอยากวิ่ง ก็อาจเริ่มต้นด้วยการเดินเร็วไปก่อนวันละ 15-30 นาที และค่อย ๆ เพิ่มเวลาหรือเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทีละประมาณ 10% ต่อสัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายมีเวลาปรับตัว ซึ่งการออกกำลังกายที่ดีไม่ควรทำแค่รูปแบบเดียว แต่ควรสลับประเภทกิจกรรมในหนึ่งสัปดาห์ ทั้งการคาร์ดิโอเวทเทรนนิ่ง และการยืดเหยียด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งระบบกล้ามเนื้อและหัวใจ และควรศึกษาวิธีหรือท่าทางที่ถูกต้องของแต่ละกิจกรรมก่อนเริ่มทุกครั้ง นพ. ปฐมฉัฐ พิสิฐวัฒนาภรณ์ อธิบายต่อว่า “ก่อนออกกำลังกายอย่าลืมวอร์มอัพอย่างน้อย 5 – 10 นาที และควรยืดเหยียดหลังออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและลดอาการปวดตึง รวมถึงควรพักฟื้นร่างกายอย่างน้อย 1 – 2 วัน ต่อสัปดาห์ ที่สำคัญคือต้องหมั่นสังเกตร่างกายระหว่างออกกำลัง ถ้าเริ่มมีอาการหายใจไม่ทัน รู้สึกเจ็บจี๊ดที่ข้อหรือกล้ามเนื้อ หรือมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ควรหยุดพักทันทีก่อนเกิดการบาดเจ็บ เพราะนั่นคือสัญญาณเตือนว่าร่างกายไม่ไหวแล้ว”

ชาวออฟฟิศซินโดรมควรรู้! ท่าไหนควรเลี่ยง ท่าไหนควรทำ
สำหรับคนที่ออกกำลังกายเพื่อบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรม เช่น ปวดคอหรือหลังเรื้อรัง แพทย์แนะนำเลี่ยงท่าที่ต้องก้มคอหรือก้มหลังซ้ำ ๆ เพราะอาจทำให้ปวดคอหรือปวดหลังรุนแรงขึ้นได้ และควรเน้นออกกำลังกายเสริมกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core Muscles) และกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างเพื่อพยุงกระดูกสันหลังและเพิ่มความมั่นคงให้ร่างกาย พร้อมทั้งยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ เป็นประจำ เวลาทำงานก็ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถหรือยืดเส้นยืดสายทุก ๆ ชั่วโมง จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ตึงสะสมจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในระยะยาว

คนที่เคยบาดเจ็บจากการออกกำลังกายอาจรู้สึกเข็ดและไม่อยากลองอีก แต่จริง ๆ แล้วทุกคนสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ แค่ต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับร่างกายตัวเอง สำหรับใครที่กังวล สามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดหรือเทรนเนอร์ที่มีประสบการณ์ เพื่อช่วยกันวางแผนหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละคน “ส่วนวันนี้ ใครที่ยังลังเลไม่กล้าเริ่มฟิต ไม่ว่าจะเพราะกลัวเจ็บ กลัวไม่ไหว หรือมีเวลาน้อย อยากให้เข้าใจว่าการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเริ่มจากอะไรหนัก ๆ ขอแค่เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ อย่างการเดินในบ้านวันละ 15 นาที แต่ขอให้ทำสม่ำเสมอ แล้วค่อย ๆ ขยับไปทำกิจกรรมอื่น เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายในทุก ๆ วัน” นพ. ปฐมฉัฐ พิสิฐวัฒนาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 08:00 – 20:00 น. โทร. 0-2079-0060 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์