Indy Mania  By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไปในช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงทศวรรษที่ 90s 

‘รายการวิทยุเรดิโอแอคทีฟ เป็นเทรนด์ เซตเตอร์ ในการรื้อสร้างการฟังเพลงร็อกในเมืองไทยให้ก้าวสู่ยุคใหม่ พลังเสริมประสานที่มีคุณภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์สายนิตยสารดนตรีก็มีพลังในการส่งอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากข้อมูลที่ทันสมัยผ่านการอ่านเรื่องราวของคณะดนตรีร็อกสมัยใหม่จากฝั่งอังกฤษและอเมริกา นั่นคือ ‘GT-Generation Terrorist’ นิตยสารที่นำเสนอความทันสมัยอันก้าวหน้าและล้ำของดนตรีในยุคนั้นผ่านผู้ก่อตั้ง เจ้าของทุน และบรรณาธิการ ที่ชื่อ นรเศรษฐ หมัดคง’

‘Generation Terrorist’ คือสตูดิโออัลบั้มเปิดตัวของคณะดนตรี อัลเทอร์เนทีฟร็อกที่มีอิทธิพลของพังค์ร็อกและแกลมร็อกจากเวลส์ แมนิค สตรีต พรีเชอร์ส (Manic Street Preachers) ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 ในสหราชอาณาจักร หรือเกาะอังกฤษ

ในอีก 2 ปีต่อมา อัลบั้มชุดนี้ได้ก่อเป็นเชื้อไฟจุดประกายให้แฟนเพลงร็อกรุ่นใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย และกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนยุคการฟังเพลงร็อกของวัยรุ่นไทยหัวก้าวหน้าในยุคนั้น โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาและนักเรียน

ด้วยการเสริมสร้างประสานกันจากรายการเรดิโอแอคทีฟ ของ วาสนา วีระชาติพลี การเกิดขึ้นของนิตยสาร ‘GT-Generation Terrorist’ ของ ซี้ด-นรเศรษฐ หมัดคง ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดในวงการดนตรีสูงมาก โดยเฉพาะดนตรีนอกกระแส การลงทุนก่อตั้งและรับหน้าที่บรรณาธิการบริหารนิตยสารเอง ต่อมารู้จักกันในวงกว้างในฐานะดีเจซี้ด ซึ่งเป็นดีเจทั้งทางวิทยุ ในคลับ และทำงานในห้องอัดผลิตอัลบั้มของตัวเองออกมาชื่อ ‘Eclextic Suntaraporn’ (อีเคล็กทริก​สุนทราภรณ์)​ รวมถึงเป็นนักวิจารณ์ดนตรี และนักเขียนด้วย 

อัลบั้มของแมนิคฯ ชุดเปิดตัวนี้ ‘Generation Terrorist’ โด่งดังไปทั้งโลก ขายได้ประมาณสิบหกล้านก็อปปีทั่วโลก จากกรุงเทพฯ ถึงเซเนกัล จากคำนี้แสดงให้เห็นถึงความยอดนิยมของอัลบั้มชุดนี้ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย ว่ามีสูงกว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกในยุคนั้น ในเอเชีย นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ฐานผู้ฟังที่เยอะมากก็อยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ดีเจวาสนา หรือเจ๊แต๋ว ในช่วงเวลานั้น ชื่นชมและชื่นชอบภาพลักษณ์วิธีการเขียนเพลงมุมมองที่มีต่อสังคมการเมืองเศรษฐกิจและแนวคิดฝ่ายซ้ายของเนื้อเพลงทั้งหมดเขียนโดย ริชี เอดเวิร์ด (Richey Edwards) และ นิคกี ไวร์ (Nicky Wire) ซึ่งเน้นที่จะวิจารณ์ทุนนิยมโลก เรื่องราวส่วนตัวเกี่ยวกับความสิ้นหวังและการดิ้นรนของวัยรุ่น

ว่าไปแล้ว แม้ในช่วงแรก แมนิคฯ จะถูกจัดให้อยู่ในกระแสคลื่นดนตรียุค 90s ของบริตพ็อป หรือ คุล บริแทนเนีย (Cool Britannia ) แต่แท้จริงแล้วพวกเขาคือผลผลิตของคูล คัมรู (Cool Cymru) จากเวลส์ ซึ่งเป็นกระแสวัฒนธรรมเวลส์ในด้านดนตรีและภาพยนตร์อิสระในช่วงนั้น และขยายมาในยุค 2000s พร้อมกับความนิยมของคณะดนตรีจากเวลส์ เช่น คาตาโลเนีย (Catatonia), สเตอริโอโฟนิกส์ (Stereophonics) 

นรเศรษฐ เคยให้สัมภาษณ์และเลือกอัลบั้ม ‘Generation Terrorist’ ของแมนิคฯ ให้เป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิตของเขา ให้ได้ก้าวมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร GT โดยที่เขาอรรถาธิบายว่า เป็นอัลบั้มที่แสดงความกล้าหาญและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด โดยมีดนตรีพังค์ร็อกและเฮฟวีเมทัลเป็นโครงสร้างหลักทั้งอัลบั้ม เนื้อหาของเพลงล้ําลึก มีชั้นเชิงของการใช้ค่าและภาษา ทั้งมีนัยของการดําเนินชีวิตแอบซ่อนอยู่มากมาย เป็นทั้งปรัชญาในการใช้ชีวิตของผู้คนในยุค Gen X ที่ไร้ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจและ แนวทางของการใช้ชีวิตในอนาคตที่ชัดเจน 

เพราะในยุค 90s เป็นยุคสุดท้ายที่โลกกําลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ผู้คนโดยเฉพาะวัยรุ่นมีความสับสนกับวิถีชีวิตที่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็นอนาล็อกและดิจิทัล ไม่มีใครสามารถทํานายได้ว่า เมื่อโลกเข้าสู่สหัสวรรษใหม่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ในขณะเดียวกันเนื้อหาก็ได้สื่อสารถึงความล่มสลายของยุคที่ผ่านมาอย่างไม่ประนีประนอม ในภาคดนตรีก็เกรี้ยวกราดโกรธขึ้ง ซึ่งเป็นการระบายความอัดอั้นออกมาอย่างสุดขั้ว

ทั้งหลายทั้งปวงจากการปลุกกระแสของทั้ง วาสนา วีระชาติพลี ผ่านสื่อวิทยุ ในภาคสื่อสิ่งพิมพ์หรือนิตยสาร นรเศรษฐ ก็ย้ำกระแสผ่านการอ่าน เทรนด์ดนตรีที่นำเข้ามาจากอังกฤษ โดยเฉพาะดนตรีเชิงขบถหัวเอียงซ้ายอย่าง แมนิคฯ ซึ่งใช้อัลบัม ‘Generation Terrorists’ มาสร้างมิติใหม่ในการฟังเพลงของวัยรุ่นไทย

แน่นอน จากการไหลบ่าของดนตรีโมเดิร์นร็อก บริตพ็อปและกรันจ์ร็อก ที่ถูกขมวดรวมกลายมาเป็นดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อก ได้เปิดฉากทัศน์ใหม่ขับเคลื่อนวงการเพลงไทยให้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย กลายมาเป็นหมุดหมายของความประทับใจที่ไม่รู้ลืมมาถึงปัจจุบันนี้ ทั้งแนวทางดนตรีใหม่ที่หลากหลาย เพลงโดนใจไม่เคยได้ยินมาก่อน นักร้องและคณะดนตรีนับร้อยๆ รายจากค่ายอินดีเล็กๆ จำนวนมากได้ออกงานในยุคนั้นเหมือนน้ำป่าที่ทะลักลงมารวดเร็วจากภูเขาสูง ถล่มทลาย

แรงบันดาลใจที่ส่งผ่านมาจากวงการเพลงสมัยนิยมจากอังกฤษและอเมริกาได้สร้างความตื่นเต้นและความสดใหม่ เมืองไทยในห้วงเวลานั้นมีคณะดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้นในปีเดียวนับสิบนับร้อยวง มีเพลงใหม่ๆ เนื้อหาทำนองแตกต่างไปจากที่เคยฟังทั่วไปในกระแสหลักมาให้เลือกฟังมากมายหลากหลาย ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกหรืออินดีส่งอิทธิพลต่อความคิด การทำงาน การใช้ชีวิตของวัยรุ่นสมัยนั้น

ในเชิงธุรกิจของอุตสาหกรรมดนตรี โดยหลักใหญ่ใจความมีคณะดนตรีร้อยละ 80 คณะแล้วคณะเล่าที่มามาวูบเดียว ดังเพลงเดียวก็หายก็มี ไม่ประสบความสำเร็จก็เยอะ แต่ก็ยังมีอีกหลายคณะที่สอบผ่านในด้านความโด่งดังและความนิยมในตัวเพลง ซึ่งส่งผลต่อวงการดนตรีต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ก็มีอีกหลายคณะ แจ้งเกิดและมีอายุมาจนถึงปัจจุบัน แม้ผลจะเป็นอย่างไรก็ตามคนดนตรีในยุคนั้นทุกคนต่างมีส่วนช่วยทำให้วงการเพลงไทยเติบโตมาได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

จุดที่แข็งแกร่งในยุคนั้น คณะดนตรีส่วนใหญ่สร้างสรรค์ผลงานออกมาภายใต้ความเป็นอิสระ แต่งเพลงเอง ทำดนตรีเอง ตระเวนแสดงสดบนเวทีอย่างเมามัน ท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างล้นหลามของคนฟังรุ่นใหม่ในยุคนั้น นรเศรษฐ หมัดคง เคยอธิบายปรากฏการณ์ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกที่เขย่าวงการเพลงให้สั่นสะเทือนในยุคนั้น ว่าเป็นยุคแห่งความกล้าหาญชาญชัย

“ยุค 90s ผมขอเรียกว่ามันเป็นยุคของการแหกกรอบ แหวกขนบเก่าๆ ดั้งเดิม ทำลายกำแพงน่าเบื่อที่วนเวียนซ้ำซากจำเจมาตลอดตั้งแต่ยุค 60s-80s เป็นทางเลือกแปลกใหม่ที่มีความโดดเด่นชัดเจนตรงที่เราจะเห็นศิลปินเขียนเพลงเอง ทำดนตรีเอง มีอิสระเต็มที่โดยไม่ยึดติดกับระบบทุนนิยม

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟยุครุ่งเรืองคือ ความดิบ ตรงไปตรงมา เปิดเปลือยความคิด ความรู้สึก จิตวิญญาณออกมาจนเราสัมผัสได้ ทั้งในแง่เนื้อหาที่รุนแรง เสียดสีสังคม การเมือง ชีวิต แง่ดนตรี ทั้งการทดลองทำซาวด์ใหม่ๆ ประหลาดๆ ออกมา ลองผิดลองถูก ทำอย่างที่ใจตัวเองต้องการโดยไม่แคร์ตลาด ความแปลก สด ใหม่ พลุ่งพล่านด้วยพลังของคนหนุ่มที่กล้าทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมมันจึงถูกสาด ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่จริงๆ”

สำหรับนิตยสาร Generation Terrorist หรือเรียกสั้นๆว่า GT เกิดขึ้นในปี 2537 ฉบับแรกคือเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดนตรีโมเดิร์นร็อกหรือดนตรีร็อกทางเลือก นับว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคทองของวงการเพลงและค่ายเพลงอินดีในไทยที่โชติช่วงชัชวาลมากที่สุด

นิตยสารดนตรีนอกกระแสที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดฉบับหนึ่งที่เมืองไทย GT ในมือของนรเศรษฐ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากคนอ่าน และทำท่าจะไปได้ดีในระยะแรก มีเส้นทางที่สวยงามรออยู่ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการทำนิตยสารนั้นสูง รายได้จากการขายโฆษณาไม่เพียงพอ  ซึ่งในยุคนั้นโอกาสของสื่อนอกกระแสแทบจะเป็นศูนย์  ส่งผลให้หนี้สินเริ่มพอกพูนทีละน้อย  จนเขามารู้ตัวอีกที ตัวเลขก็อยู่ที่หลักล้านบาทแล้ว นรเศรษฐก็ต่อสู้ไปเรื่อย ทั้งเขียนเอง สัมภาษณ์เอง แม้มีคนมาช่วยเรื่องทุนก็จริงแต่หนี้สินก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของลูกชายของเขา เมื่อนิตยสารเดินทางมาถึงฉบับที่ 45 เล่มสุดท้าย นรเศรษฐไม่มีเงินจ่ายโรงพิมพ์ เช็กเด้ง สุดท้ายเขาก็ต้องยืนอยู่หน้าคุก นั่นคือช่วงชีวิตที่นรเศรษฐบอกว่าตกต่ำที่สุดแล้ว

เช่นเดียวกัน เมื่อยุคฟองสบู่ของไทยแตก เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ความล่มสลายทั้ง Bakery Music  นิตยสาร GT และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับวงการเพลงอินดีในยุคนั้นที่เบ่งบานอยู่ 3-4 ปี ก็ค่อยเลือนหายไป แต่จิตวิญญาณเหล่านี้ก็ได้ส่งทอดผ่านมาถึงปัจจุบัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก