ซีรีส์วายไทยเดินทางมานานกว่าทศวรรษแล้ว และได้สร้างปรากฏการณ์เกิดขึ้นในสังคมไทยหลายด้าน FEED จึงอยากพาทุกคน (ไม่จำกัดเฉพาะสาววาย) ย้อนเวลากลับไปศึกษาซีรีส์วายที่สร้างผลกระทบภายในอุตสาหกรรมทั้งในระดับชาติและข้ามชาติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กับโปรเจกต์พิเศษ 10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย เจาะลึกทั้งประเด็นทางสังคม วัฒนธรรมการเมือง พลวัตวายไทยและวายข้ามชาติผ่านมุมมองของ นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กำลังรอโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ จากผลงานทางวิชาการด้าน Boys’ Love คนแรกของประเทศ
10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย FEED X นัทธนัย ประสานนาม EP 1 Love Sick The Series
นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีมากที่เราจะย้อนกลับไปใคร่ครวญถึงความเป็นมาของซีรีส์วายไทยที่มีผลต่อวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมวายโดยรวม ซึ่งเรื่องแรกที่เลือกนำมาพูดถึงคือ Love Sick The Series วัยรุ่น วัยแสบ ออกอากาศในปี 2557 ถือว่าเป็นซีรีส์วายไทยเต็มรูปแบบเรื่องแรกที่ออกมาในช่วงเวลานั้น
Love Sick The Series 2557 ถือว่าเป็นปีแรกของปรากฏการณ์วายบูมในประเทศไทย ก่อนที่ปรากฏการณ์นี้จะพัฒนาและขยายตัวเป็นระดับทวีป และระดับโลก ซึ่งในช่วง 10 ปีนี้ เราจะเห็นว่ามีซีรีส์วายหลากหลายรูปแบบ และในปรากฏการณ์วายบูมไม่ได้เริ่มต้นจากสุญญากาศ เพราะในช่วงปีนั้นปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันก็คือการเกิดขึ้นของโทรทัศน์ดิจิทัล ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ผลักดันให้ปรากฏการณ์วาย ซีรีส์วาย ขยายตัวเป็นระดับทวีปและระดับโลก
ในช่วงเวลาที่มีโทรทัศน์ดิจิทัลหลังปี 2557 การแข่งขันของโทรทัศน์ช่องต่างๆ มีมากขึ้นจึงต้องมองหาวัตถุดิบใหม่ๆ มาสร้างเป็นซีรีส์หรือสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาที่ป้อนเข้าสู่ช่องของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าในช่วงก่อนหน้านั้นที่จะเกิดปรากฏการณ์วายบูม มีซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่หยิบเอาประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมาพูดอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็มีประเด็นเรื่องวัยรุ่นที่มีมาก่อนแล้ว ถ้าจะอธิบายให้เห็นชัดเจนเราลองคิดถึงตอนปี 2556 เรามีซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่นออกมา และมีต่อทั้งหมด 3 ซีซั่น ตั้งแต่ปี 2556 – 2558 นอกจากนั้นเรายังมีเนื้อหาในกลุ่ม Club Friday The Series ที่หยิบเอาความสัมพันธ์แบบความหลากหลายทางเพศมาพูดด้วย เพราะฉะนั้นจะมีพื้นฐานบางอย่างที่รองรับการเกิดขึ้นของ Love Sick The Series มาก่อน

จุดเริ่มต้นโมเดลอุตสาหกรรมวาย
สิ่งที่น่าคิดคือการเกิดขึ้นของ Love Sick The Series ถือว่าเป็นการเริ่มต้นโมเดลอุตสาหกรรมวาย ในการหยิบเอาเนื้อหาในนวนิยายวายมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ Love Sick The Series ซีซั่นแรกกำกับโดยราชิต กุศลคูณสิริ ซีซั่น 2 กำกับโดย ดนพ ธนินศิรประภา ซึ่งทั้งสองเรื่องออกอากาศทาง MCOT เนื้อหาของซีรีส์นำชีวิตรัก หรือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมัธยมมานำเสนอ โดยมีพล็อตหลักโฟกัสที่ความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มในโรงเรียนชายล้วน ผ่านตัวละครเอก ปุณณ์ รับบทโดย ไวท์ – ณวัชร์ พุ่มโพธิงาม และ โน่ รับบทโดย กัปตัน – ชลธร คงยิ่งยง แต่ว่าสิ่งที่เข้ามาเป็นความขัดแย้งในพล็อตนี้ก็คือปุณณ์กับโน่มีคนที่ชอบอยู่แล้ว โดยปุณณ์คบกับเด็กผู้หญิงที่อยู่คอนแวนต์ ส่วนโน่มีเด็กผู้หญิงที่มาสนใจโน่เป็นพิเศษ ซึ่งความสัมพันธ์ของคน 4 คนนี้ก็พาดทับช่วงเวลาทั้ง 2 ซีซั่น และความขัดแย้งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการที่โน่กับปุณณ์ พยายามที่จะยอมรับหรือว่าเปิดใจให้กับความสัมพันธ์ครั้งนี้โดยผละออกจากความสัมพันธ์แบบรักต่างเพศที่เคยมีมา
ถ้าลองอธิบาย Love Sick The Series ในฐานะงานประเภทโรมานซ์ จะพบว่ากว่าตัวละครจะสมปรารถนาก็กินเวลามากกว่า 40 EP. จุดที่น่าสนใจของเรื่อง Love Sick The Series ด้วยความสัมพันธ์หลายคู่ในเรื่อง ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจการสร้างนักแสดงวายควบคู่ไปด้วย มีการแคสติ้งเด็กหนุ่มมาเป็นกลุ่มเพื่อเป็นตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในซีซั่น 2 รวมถึงเพลงจากซีรีส์ที่ขับร้องโดยนักแสดง สิ่งนี้นับว่าเป็นโมเดลอุตสาหกรรมที่เราเริ่มเห็นแล้ว ตั้งแต่ปี 2557 ที่ซีรีส์เรื่องนี้เป็นตัวเปิด
มิติทางสังคมของ Love Sick The Series

มิติทางสังคมของ Love Sick The Series อาจเริ่มจากการสังเกตขนบของ Yaoi หรือ BL ที่มาจากญี่ปุ่น Love Sick The Series ยังคงเดินตามขนบดังกล่าวอยู่ส่วนหนึ่งคือ ตัวละครทั้งสองไม่ได้ระบุเพศวิถีของตัวเองว่าเป็นชายรักชายหรือว่าเป็นเกย์ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่นักวิชาการสนใจเป็นพิเศษก็คือว่าในขนบของญี่ปุ่น ตัวละครเซเมะ seme (ฝ่ายรุก) กับ อุเคะ uke (ฝ่ายรับ) จะมีการแยกที่ชัดเจนผู้ชมจะสามารถบอกได้ทันทีด้วยว่าคนนี้เป็นเซเมะคนนี้เป็นอุเคะ แต่ว่าใน Love Sick The Series ด้วยความที่โน่หัวเกรียน ในตอนแรกที่ดูเราก็จะไม่แน่ใจว่า ตกลงโน่เป็นอุเคะหรือเปล่า แต่เมื่อติดตามเรื่องไปเรื่อยๆ เราก็จะรู้ได้ว่าปุณณ์เป็นเซเมะ ส่วนโน่เป็นอุเคะ สำหรับผู้ชมที่ติดตามวายญี่ปุ่นอยู่จะรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นขนบส่วนหนึ่งที่ซีรีส์วายไทยนำมาพัฒนา และเห็นว่าเป็นจุดที่น่าสนใจโดดเด่นกว่าสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่น
มาต่อกันที่ประเด็นทางสังคมที่แทรกเข้ามาในซีรีส์ Love Sick The Series นักวิชาการหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าวายไทยมีความพิเศษเพราะเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ในเรื่อง Love Sick The Series ตั้งแต่ซีซั่นแรก ตั้งแต่ Title เปิดของ EP. 1 เราจะเห็นการแบ่งตัวละครออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น แก๊งนางฟ้า แก๊งดีเจ แก๊งชมรมดนตรีของโรงเรียน แก๊งเพื่อนโน่ แก๊งเพื่อนปุณณ์ ซึ่งในบรรดากลุ่มตัวละครแก๊งนางฟ้าเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะว่าในช่วงเวลานั้นประเด็นเรื่องการเมืองวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังไม่เข้มข้นเท่าในปัจจุบัน (พ.ศ.2568) แต่ว่าเราจะเริ่มเห็นแล้วว่าซีรีส์วายเรื่องนี้เปิดพื้นที่ให้มีภาพของกลุ่มแก๊งนางฟ้า กลุ่มนี้ที่อาจนิยามตนเองว่าเป็นกลุ่มกะเทย ซึ่งอยู่ในโรงเรียนชายล้วน ใน EP. งานกีฬาโรงเรียนกลุ่มแก๊งนางฟ้าได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียน แต่มีคนที่อยู่ชมรมเชียร์บางคนรู้สึกเป็นกังวลว่ารุ่นพี่โรงเรียนชายล้วนที่กลับมาจะไม่ชอบการปรากฏของกลุ่มแก๊งนางฟ้าเพราะว่าอาจจะกระทบกับภาพลักษณ์ของโรงเรียน แต่ว่าเอิ้นตัวละครที่เป็นหัวหน้าเชียร์ซึ่งจะเป็นคู่รองของซีรีส์เรื่องนี้กลับสนับสนุนให้เพื่อนกลุ่มแก๊งนางฟ้าได้แสดงออกตามที่ตัวเองต้องการ
Love Sick The Series จึงแสดงให้เห็นการเผชิญหน้ากันของระบบคุณค่าที่หลากหลาย แม้เราจะพบว่าภาพที่ปรากฏของกลุ่มกะเทยยังมีลักษณะที่ผูกอยู่กับความตลกขบขัน แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่แสดงให้เห็นบทบาทอย่างอื่นหรือว่าการที่เข้ามายืนอยู่แถวหน้า ในขณะเดียวกันเรายังพบว่าเรื่องนี้ยังมีพี่กะเทยปรากฏตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่กะเทยร้านส้มตำ พี่กะเทยโมเดลลิ่ง หรือพี่กะเทยที่กระจายอยู่ตลอด 2 ซีซั่น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างในระยะแรกของซีรีส์วาย จึงเข้าใจได้ว่าตำแหน่งแห่งที่ของพี่กะเทยที่อยู่ในยุคต่อมาย่อมมีทิศทางที่เปลี่ยนไป
วัฒนธรรมของสาววาย
Love Sick The Series ยังเป็นซีรีส์วายที่สมบูรณ์เป็นเรื่องแรกในการหยิบเอาวัฒนธรรมของสาววายเข้าไปใส่ในเรื่องด้วย เราจะพบว่ามีตัวละครอีกตัวหนึ่งก็คือน้องแป้ง ซึ่งเป็นน้องของปุณณ์ ที่เปิดตัวเลยว่าเป็นสาววาย เพราะฉะนั้นตอนแรกที่ความสัมพันธ์ระหว่างปุณณ์กับโน่มาเจอกันก็เกิดขึ้นจากจินตนาการของแป้ง หรือว่าสาววายคนนี้ และเราจะพบว่าในซีซั่น 2 แป้งก็ได้มีความสัมพันธ์จริงๆ กับคนที่ตัวเองเคยจิ้นว่าเป็นคู่วาย ซึ่งแสดงให้เห็นอีกแล้วว่า Love Sick The Series เป็นพื้นที่ของการต่อรองระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริงของสาววาย เป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาพูดเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน
สิ่งที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ Love Sick The Series ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของซีรีส์วายไทยตั้งแต่ปี 2557 ซีรีส์เรื่องนี้นำมารีเมกใหม่ในปี 2567 ครบรอบ 10 ปีซีรีส์วายไทย ฉบับรีเมกคือการกลับไปเฉลิมฉลอง legacy ของ Love Sick The Series สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นโดยเฉพาะประเด็นทางสังคมที่พูดไปก่อนหน้านี้ก็คือการใส่ตัวละครที่อาจจะระบุตัวเองว่าเป็นกะเทย แต่ว่าปัจจุบันอาจมีคำอื่นที่ใช้เรียกอย่างเช่น Transgender หรือทรานส์ ถ้าเราลองย้อนกลับไปดูฉบับเดิมตัวละครที่ชื่อกรใน Love Sick The Series ปี 2557 เป็นผู้ชายซึ่งเป็นคนที่ค้นพบว่าเอม นอกใจปุณณ์ และเป็นคนที่พยายามสื่อสารกับปุณณ์ว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่ว่าในภาครีเมคจากกรที่เป็นผู้ชายเปลี่ยนเป็นตัวละครที่เป็นทรานส์
การหลอมรวมปรากฏการณ์ GL และการท้าทายบรรทัดฐานรักต่างเพศ

จุดเปลี่ยนสำคัญที่เราพบใน Love Sick The Series 2024 ภาครีเมก ก็คือการใส่คู่ GL หรือคู่ยูริเข้ามา ซึ่งไม่ปรากฏในเวอร์ชั่นเดิม เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าหลังปี 2565 เป็นต้นมา ที่มีการแนะนำซีรีส์ GL ออกสู่วงการ Love Sick The Series ฉบับรีเมกก็ได้หลอมรวมเอาปรากฏการณ์ GL เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าตัว Love Sick The Series ผ่านกาลเวลามีพลวัต ฉบับใหม่ได้โอบรับเอาประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นทางสังคมต่างๆ เข้ามามากขึ้น ทำให้ตัวซีรีส์มีความทันสมัยหลังผ่านไปแล้ว 10 ปี
ดังนั้นหากใครจะย้อนดูซีรีส์เรื่องนี้อยากชวนให้ดูตั้งแต่ EP. แรก ของฉบับเดิมปี 2557 ใน ฉากหนึ่งซึ่งเป็นงานวันเกิดเอม จะมีเพื่อนอวยพรให้เอมถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรกับปุณณ์ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการสมรสของรักต่างเพศ Love Sick The Series เปิดสิ่งนั้นตั้งแต่ EP. แรกเพียงเพื่อวิพากษ์หรือว่าท้าทายการสมรสแบบรักต่างเพศในตัวเนื้อเรื่องของซีรีส์ เพราะความสัมพันธ์ในเรื่องมีการเลื่อนไหลแปรเปลี่ยนแล้วก็ไม่มีขีดจำกัดของความปรารถนา จะเห็นประเด็นเรื่องชนชั้นด้วยซึ่งปรากฏในตัวละครรองที่อยู่รวมทั้งประเด็นการอยู่ก่อนแต่ง แสดงให้เห็นว่าซีรีส์วายหยิบเรื่องเพศวิถีมาแถลงตั้งแต่ระยะแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม
นอกจากนั้น นักวิชาการจำนวนมากได้พูดถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง Love Sick The Series 2557 กับรักแห่งสยาม จึงชวนให้คิดด้วยว่า Love Sick The Series 2557 อาจจะเชื่อมโยงได้กับซีรีส์ Hormones ที่ออกมาก่อนในปี 2556 ในแง่หนึ่งซีรีส์ Hormones นอกจากจะพูดถึงปัญหาครอบครัว อำนาจนิยมในโรงเรียนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจก็คือความเป็นไปได้ของความปรารถนาแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นและมัธยม Love Sick The Series ก็ย้อนกลับไปสำรวจประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน และเมื่อเราสำรวจประเด็นเรื่องความปรารถนา ถ้าเราเชื่อมกับ Hormones เองก็มีคู่เด็กผู้ชายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาเราย้อนกลับไปมองปรากฏการณ์เหล่านี้จะเห็นว่าทุกอย่างมีความสัมพันธ์เกาะเกี่ยวกัน
Love Sick The Series นอกจากจะเป็นตัวจุดกระแสที่สำคัญแล้วอาจจะกล่าวได้ว่าซีรีส์เรื่องอื่นก็มีส่วนในการที่จะปูพื้นหรือว่าอนุญาตให้ซีรีส์ที่มีเนื้อหาแบบ Love Sick The Series ออกมา เพราะว่าก่อนหน้านี้ Hormones ก็ถูกผู้ปกครองที่ห่วงใยจำนวนหนึ่งประท้วงเรื่องเนื้อหาที่ค่อนข้างแรง แต่ว่าพอมี Hormones แล้ว Love Sick The Series เกิดตามมาจะเห็นได้ว่าผู้ชมจำนวนหนึ่งก็เริ่มเปิดใจมากขึ้น หรือว่ามีทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้นในการจะมองเห็นความเป็นไปได้ของความปรารถนาที่ตัวละครวัยรุ่นพร้อมจะสำรวจ
สร้างโมเดลอุตสาหกรรมวาย
ในแง่อุตสาหกรรม Love Sick The Series ถือว่าเป็นตัวแสดงที่สำคัญ เพราะว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้สร้างนักแสดงวายจำนวนมาก นักแสดงที่ปรากฏในซีรีส์เรื่องนี้ปรากฏอย่างต่อเนื่องในซีรีส์วายในยุคหลัง ทั้งที่เป็นนักแสดงนำและนักแสดงสมทบ การคัดเลือกเด็กหนุ่มจำนวนมากกลายเป็นโมเดลอุตสาหกรรมที่ถูกนำไปสานต่อของบรรดาบริษัทที่สร้างซีรีส์วาย เช่น การสร้างตอนพิเศษเพิ่มเติม ใน Love Sick The Series ก็มีความพยายามที่จะเชื่อมตัวซีรีส์กับกลุ่มแฟนเช่นกัน โดยจะพบว่าในตอนจบของซีซั่นแรกจะมีตอนที่นักแสดงมาพูดถึงการทำงาน และตัวเรื่องยังไม่จบ เหมือนกับว่าตอนจบของซีรีส์ซีซั่นแรก เป็นคำสัญญาว่าจะมีซีรีส์ซีซั่นต่อไป
กลุ่มแฟนที่เราจะเห็นจาก Love Sick The Series จึงเกิดขึ้นจากการติดตามตั้งแต่ช่วงแรกของซีรีส์ แล้วแฟนก็จะมีความรู้สึกว่าเขาได้สัมผัสตัวนักแสดงผ่านตัวกิจกรรมที่นักแสดงทำนอกซีรีส์ เมื่อเดินทางมาถึงซีซั่นที่ 2 ตอนจบปุณณ์กับโน่ ก็หันไปพูดกับแฟนผ่านกล้องเหมือนกันว่าขอบคุณที่เดินทางมาด้วยกัน แล้วก็จะคิดถึงเสมอเป็นการสั่งลา แล้วก็มีกิจกรรมแฟนมีตที่เกิดขึ้นจากซีรีส์เรื่องนี้ โดยมีกลุ่มแฟนที่ติดตามทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนที่ในโลกที่พูดภาษาจีน
การขยายฐานแฟนหรือ fanbase ที่เกิดขึ้นจาก Love Sick The Series ส่งผลให้หลายๆ บริษัทมองเห็นศักยภาพในเชิงธุรกิจของอุตสาหกรรมวายโดยเฉพาะการจับกลุ่มของแฟนในประเทศ และแฟนนอกประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มแฟนในทวีปเอเชีย ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นตอนที่บริษัทใหญ่ซึ่งเป็นผู้แสดงสำคัญของอุตสาหกรรมวายก็คือ GMMTV เริ่ม สร้าง SOTUS The Series ในปี 2559 ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะมาคุยในตอนต่อไป
* อ่านเรื่องอิทธิพลของขนบวายญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้จากบทความของ Thomas Baudinette เรื่อง “Lovesick, The Series: adapting Japanese ‘Boys Love’ to Thailand and the creation of a new genre of queer media” ในวารสาร South East Asia Research (ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 ปี 2019)