Indy Mania By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไปในช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงยุคทศวรรษที่ 90s
‘ความครบเครื่องของ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ ด้วยพื้นเพจากตระกูลศิลปินที่เข้าใจธุรกิจ คุณตาเคยสร้างปรากฏการณ์บุกเบิกวงการเพลงไทยสากลผ่านบริษัทกมลสุโกศล ในยุคแผ่นเสียงที่มีเพลงสมัยนิยมคือ สุนทราภรณ์ และเพลงลูกกรุง เขาเรียนทางศิลปศาสตร์และวิศวกรทางเสียงจากอเมริกา การมาสร้าง Bakery Music จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ’
สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เคยบอกกับสื่อตอนที่ Bakery Music รุ่งเรือง ถึงฐานแนวคิดของเขาว่า ครอบครัวของเขาเป็นศิลปินที่เข้าใจธุรกิจ ไม่ใช่นักธุรกิจ มันไม่เหมือนกัน
เขาศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปศาสตร์ (Liberal Art) เอกปรัชญา จาก Music Technology New York University U.S.A. และเรียนเสริมด้านวิศวกรเสียง (Sound Engineer) ที่มหานครนิวยอร์ก เริ่มทำงานห้องอัดที่อเมริกา กลับมาก่อตั้งค่ายเพลง Bakery Music ร่วมกับ บอย โกสิยพงษ์ สมเกียรติ อริยชัยพาณิชย์ และสาลินี ปันยารชุน
สุกี้ ย้ำว่า เขากล้าพูดเลยว่าศิลปินทุกคนตอนเริ่มต้นไม่มีใครคิดเรื่องธุรกิจ ทุกคนแค่อยากจะทำเพลง ไม่มีใครคิดว่าเดี๋ยวจะเล่นกีตาร์แล้วรวย ไม่มี
เมื่อย้อนกลับไป ช่วงที่อายุ 22-23 ตอนทำ Bakery Music เขาก็แค่อยากจะทำเพลง รวมถึงหุ้นส่วน บอยด์ (โกสิยพงษ์) กับสมเกียรติ (อริยะชัยพาณิชย์) แค่เป็นเด็กที่อยากทำเพลง ในช่วงเวลานั้น เขาเพิ่งกลับมาเมืองไทย สมเกียรติ กำลังจะทำอัลบั้มชุดแรกและต้องการซาวด์ เอนจิเนียร์ ซึ่งเขาจบด้านนั้นมา เอื้อง-สาลินี ปันยารชุน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหุ้นส่วนของ Bakery Music หลังจากนั้น แนะนำให้เจอสมเกียรติ แล้วสมเกียรติก็มีเพื่อนที่เขียนเนื้อเพลงได้ชื่อ บอยด์ จากจุดนี้คือสิ่งที่ค้างคาในใจของเขา เขาจะบอกทุกคนว่าจุดเริ่มต้นของ Bakery Music คืออัลบั้มชุดแรกของสมเกียรติ (อัลบัม ‘Z-Zomkiat’ ที่ออกกับ มูเซอร์ เรคคอร์ดส ปี 2535)

สุกี้ เคยเล่นเท้าความไปถึงยุค Pre-Bakery หรือก่อนก่อตั้ง Bakery Music ว่าตอนนั้นทุกคนเป็นฟรีแลนซ์กัน คือไม่มีบริษัท ตัวเขาเอง บอยด์ และสมเกียรติ ล้วนผลิตเพลงให้กับบริษัทต่างๆ แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็เกิดไอเดียว่า ทำไมไม่ทำบริษัทขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง เลยก่อตั้ง Bakery Music ขึ้นมา
ในช่วงแรก สุกี้ ไม่ได้คิดว่า Bakery Music เป็นค่ายเพลง เพราะในสมัยนั้น ต้นยุคทศวรรษที่ 2530 มีแต่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ครองตลาด ความคิดของบริษัททำเพลงแห่งนี้ มองเพียงว่าทำเพลงแล้วก็เอาเพลงไปป้อนค่ายใหญ่ ไม่เคยมีความคิดจะเป็นค่ายเพลงเพื่อไปแข่งกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเพลงไทยอยู่แล้ว แต่ก็มีจุดหักเหที่สำคัญ และเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปตลอดกาล
ตอนนั้น สุกี้ กำลังควบคุมการผลิตการทำอัลบั้มของ โมเดิร์นด็อก อยู่ โดยมีการวางแผนไว้คร่าวๆ จะนำงานเพลงของ โมเดิร์นด็อก ไปเสนอขายแกรมมี่, อาร์เอส, คีตา เมื่อถึงท้ายที่สุดที่ต้องตัดสินใจ ป๊อด-ธนชัย อุชชิน นักร้องนำของโมเดิร์นด็อก เป็นคนบอกเขาว่า ให้ขายเองดีกว่า ถ้าเอาอัลบั้มชุดนี้ไปขายค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ก็จะถูกเปลี่ยนเพลง เปลี่ยนวิธีแต่งตัว เปลี่ยนวิธีพูด เพราะฉะนั้น ป๊อด โมเดิร์นด็อก จึงเป็นคนสำคัญที่สุดในการโน้มน้าวและยุยงให้ทำBakery Music ขึ้นมารองรับการขายอัลบั้มของพวกเขา
แท้จริงแล้ว สมัยนั้น สุกี้ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในเมืองไทยเลย เขามองว่า มันไม่ใช่ ซึ่งยุคนั้นเรียกศิลปินว่า พรีเซนเตอร์ ทำให้การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดในการทำค่ายเพลงเองจึงง่ายขึ้น และไม่ได้ฝืนใจเขามากมายแต่อย่างใด
สิ่งที่ สุกี้ คิดว่า Bakery Music เป็นค่ายเพลงเก่ง คือรู้ว่าเทรนด์ดนตรีไหนจะมา เก่งที่รู้ว่าต้องเอาแนวเพลงฝรั่งอันไหนใส่ให้เข้ากับรสนิยมการฟังเพลงของคนไทย เก่งตรงนั้นเป็นสิ่งที่ Bakery ถนัด เขามองว่า บอยด์ โกสิยพงษ์ เก่งสุดในเมืองไทย ไม่มีใครเอาทำนองฝรั่งมาแล้วใส่เนื้อไทยเข้าไปแล้วไปด้วยกันได้แบบสมูธลื่นไหล แล้ว Bakery มาในจังหวะที่ใช่พอดี คือจังหวะและเวลาที่เหมาะสม
ฟันเฟืองที่สำคัญและเป็นหนึ่งในห้องหัวใจทั้งสี่ของ Bakery Music สุกี้ คือ ส่วนที่มาเติมเต็มการบันทึกเสียงในฐานะผู้ควบคุมทางการผลิต เนื่องจากเรียนด้านวิศกรทางเสียงมาด้วยอีกโสตหนึ่ง
อย่างที่ทราบกัน วัฒนธรรมของเพลงในเมืองไทย ทั้งรูปแบบ และซาวด์ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลดนตรีพาณิชย์ศิลป์ ดนตรีสมัยนิยมผ่านบทเพลงฮิตติดชาร์ตจากอเมริกาและอังกฤษ แสดงถึงความมีรสนิยมที่ใกล้เคียงกัน การทำเพลงจึงออกไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งซาวด์ของเพลงตะวันตกมีความแน่นหนา ความสมบูรณ์ในสุ้มเสียงกว่าเพลงไทยในยุคนั้น

การที่ สุกี้ ได้เรียนและมีประสบการณ์ด้านซาวด์ เอนจิเนียร์ จากสหรัฐอเมริกา จึงมีผลดีต่อการสร้าง ‘Bakery Sound’ ร่วมกับบอย โกสิยพงษ์ และสมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ จึงเป็นมิติเสียงแบบใหม่ในวงการเพลงไทยในด้านคุณภาพของเสียงและการบันทึกเสียงที่เข้าใจในแนวดนตรีต่างๆ จากรากฐานของต้นแบบที่แท้จริงจากอเมริกาและอังกฤษ
เพราะฉะนั้นอัลบั้มที่ออกมาของ Bakery Music จึงมีลักษณะที่แตกต่าง มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการเพลงไทย โดยเฉพาะกรันจ์ร็อกหรืออัลเทอร์เนทีฟร็อกแบบโมเดิร์นด็อก ซึ่งสุกี้ถือเป็นคนที่อยู่เบื้องหลังทางการบันทึกเสียงที่สำคัญ
ประสบการณ์จากการเรียนรู้ซาวด์บันทึกเสียงแบบของอเมริกา ทำให้เขากลับมาสร้างซาวด์ที่มีมาตรฐานในการบันทึกเสียงมาก เพราะเทคโนโลยีของเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ใกล้เคียงกันมาก แน่นอนสิ่งที่ทำให้เสียงของเพลงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเพลงสากลกับเพลงไทย คือ know how ของคนฟัง เพราะฉะนั้นการมาถึงของ Bakery Music ก็คือการลดช่องว่างเหล่านั้นให้แคบลงมาด้วยการสร้างซาวด์ให้มีคุณภาพเท่าแม่แบบตะวันตกได้มากที่สุดยุคหนึ่งของวงการเพลงพาณิชย์ศิลป์เมืองไทย
เกร็ดเล่าหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งสุกี้เคยเล่าไว้ตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อ ซึ่งสะท้อนถึงความรุ่งเรืองของค่าย Bakery Music และวงการเพลงไทย
ในปี 2539 มีงานสัมมนาทางธุรกิจดนตรีที่ฮ่องกง งาน Billboard Music Conference ‘96 ซึ่งจัดโดยบิลบอร์ด บริษัทจัดชาร์ตอันดับเพลงของอเมริกาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก โทนี เฟอร์นันเดส ชาวมาเลเซีย ผู้ก่อตั้งแอร์เอเชีย สายการบินราคาประหยัด หรือสายการบินต้นทุนต่ำ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งตอนนั้นคุมค่ายเพลงวอร์เนอร์ มิวสิค มาเลเซีย และเป็นรองประธานของวอร์เนอร์มิวสิค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาคุยกับสุกี้ แล้วเสนอซื้อ Bakery Music จากสุกี้ ด้วยราคาประมาณ 400-500 ล้านบาท แต่สุกี้ไม่เอา ด้วยเหตุผลว่ากลัวจะเติบโตไปเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ซึ่งในตอนนั้นเรื่องเงินเป็นเรื่องที่รองลงไป
หลังจากการล่มสลายของ Bakery Music สุกี้เคยย้อนความหลังว่า ช่วงเวลานั้นสอนเขาเยอะมากเลย วันหนึ่งสามารถไปอยู่สูงสุดได้ ภายในสองปีมีเงินเป็น 100 ล้าน จนถึงวันหนึ่งภายในสองปีเช่นกันมีหนี้สิน 80 ล้าน
หากมองย้อนหลังกลับไป การที่ สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ เข้าสู่ธุรกิจเพลง ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะคุณตาของเขา กมล สุโกศล คือเจ้าของบริษัทกมลสุโกศล ถือว่าเป็นบริษัทใหญ่มีกิจการหลายประเภท และมีแผนกแผ่นเสียง เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการแผ่นเสียงของเมืองไทย ตั้งอยู่ที่สามยอด ห้องบันทึกเสียงตั้งอยู่ในซอยอรรถการประสิทธิ์ ในช่วงปี 2490 – 2499 มีเตียง โอศิริ เป็นผู้จัดการ มีหน้าที่คัดเพลงและควบคุมการบันทึกแผ่นเสียง เตียง ได้รับสมญาว่า ‘บรรณาธิการเพลงแห่งประเทศไทย’
ต่อมาในยุคกึ่งพุทธกาล ปี 2500 ถึงประมาณปี 2513 ก่อนบริษัทจะเลิกกิจการด้านแผ่นเสียง แผ่นเสียงตรากมลสุโกศล มีผลงานออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยธุรกิจห้องบันทึกเสียง และผลิตแผ่นเสียงแยกเป็นบริษัทเฉพาะ คือบริษัทอุตสาหกรรมแผ่นเสียงไทย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2507 นับเป็นโรงงานผลิตแผ่นเสียงสเตอริโอไฮไฟที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคตะวันออกไกล ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นยุคเริ่มของระบบการบันทึกเสียงระบบสเตอริโอของเมืองไทย สุกี้ จึงเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นเท่าไหร่นัก
การที่คน 4 คนมีเคมีตรงกัน ดึงดูดกันเข้ามาร่วมมือร่วมใจร่วมหุ้นสร้าง Bakery Music ขึ้นมาสุกี้ บอกว่า “ตอนโน้นเราเป็นเด็ก เด็กต้องรู้ดีกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้วว่า เด็กด้วยกันต้องการอะไร”
นั่นคือ Bakery Music ที่ทำเพลงให้คนรุ่นเดียวกันฟัง หรือทำเพลงให้เพื่อนฟังนั่นเอง เป็นเพลงไทยจากค่ายอินดี้แห่งยุคทศวรรษที่ 90s ของพวกเขาเอง
อ่านบทความ 4 ตอนก่อนหน้านี้ ที่นี่