Indy Mania By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไปในช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงทศวรรษที่ 90s
“ค่ายเพลง Bakery Music เกิดจากการรวมตัวทางเคมีดนตรีและธุรกิจของคน 4 คน ที่ตรงกัน โดยมีพื้นฐานมาจากความเป็นคนสร้างสรรค์ดนตรีและงานเพลง รวมถึงเรียนจบมาทางด้านธุรกิจดนตรีจากต่างประเทศ พร้อมกับคนที่เข้าใจในธุรกิจของเพลงยอดนิยมเชิงคุณภาพที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อวิทยุและโฆษณา บอยด์ โกสิยพงษ์ คือหน่วยธาตุทางเคมีดนตรีและธุรกิจเพลงธาตุแรกที่ปรากฏออกมาสู่สาธารณะ”
แนวคิดของ Bakery Music ให้ความสำคัญกับศิลปะของดนตรีและบทเพลงจากนักร้องหรือคณะดนตรีมากกว่าธุรกิจ นั่นก็คือ ภาพลักษณ์และความรู้สึกแรกที่คนฟังเพลงรุ่นใหม่ในยุคทศวรรษที่ 2530 หรือยุค 90s สัมผัสได้อย่างจริงจัง
จากอัลบั้มที่ Bakery Music ออกมา 2 ชุดแรก คือ ปลายปี 2537 อัลบั้ม ‘โมเดิร์นด็อก – เสริมสุขภาพ’ ของคณะดนตรีโมเดิร์นด็อก ซึ่งเป็นคณะดนตรีในแนวกรันจ์ร็อกและอัลเทอร์เนทีฟร็อก ซึ่งในช่วงเวลานั้นในเมืองไทยยังเรียก ดนตรีร็อกของคณะดนตรีใหม่ๆ ว่าแนวโมเดิร์น ร็อก และตามมาในปี 2538 ด้วยอัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ ของ บอยด์ โกสิยพงษ์ ซึ่งเป็นอัลบั้มที่นำเสนอด้วยดนตรีริธึม แอนด์ บลูส์ หรืออาร์แอนด์บี ที่มีความเป็นพ็อปแบบเต็มๆ อัลบั้มแรกของเมืองไทย และมีนักร้องรับเชิญมาร่วมร้องในแต่ละเพลง หรือที่ในยุคสมัยนี้เรียกว่า ฟีเจอริง (Featuring)

2 อัลบั้มนี้ของ Bakery Music ได้หักล้างความเชื่อที่ว่า การทำเพลงสมัยนิยมให้เป็นเพลงยอดนิยมต้องมาจากสายการผลิตจากทีมทำเพลงและทีมโปรโมท ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดเพลงพาณิชย์ศิลป์ของเมืองไทยอยู่ในขณะนั้น
ปัจจัยในการผลิตเพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ควบคุมระบบนิเวศทางธุรกิจในอุตสาหกรรมเพลงไทยเอาไว้แบบเบ็ดเสร็จ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ บอยด์ โกสิยพงษ์ ตัดสินใจตั้งค่ายเพลง หลังจากที่ตั้งไข่มาจากบริษัทรับทำดนตรีและเพลงโฆษณามาสั้นๆ นั่นคือความแตกต่างของระบบการทำงานของค่ายเพลงในยุคนั้นกับแนวคิดในการทำงานเพลงของบอยด์ โกสิยพงษ์ เอง
วงการเพลงไทยในยุคต้นถึงกลางทศวรรษที่ 2530 (ปี 2530-2536) ถ้าไม่นับแนวเพลงลูกทุ่งและแนวเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งมีกลุ่มผู้ฟัง และตลาดแยกออกไปเป็นกลุ่มเฉพาะแล้ว เพลงพ็อปกระแสหลักโดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพลงแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บทเพลงและอัลบั้มที่ผลิตออกมาจึงต้องเป็นเพลงที่ตั้งโจทย์การตลาดและแบ่งกลุ่มคนฟังหรือผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เน้นการขายและดูเพลง เพื่อสร้างผลกำไรให้แก่ค่ายเพลงสูงสุด
เมื่อการผลิตเพลงดำเนินไปตามความต้องการของตลาดคนฟังที่ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่สามารถชี้นำและกำหนดได้ผ่านคลื่นวิทยุและรายการโทรทัศน์ ที่ซื้อเวลามาใช้เพื่อการโปรโมทสร้างเพลงยอดนิยม จึงทำให้รูปแบบเพลงในยุคนั้นไม่หลากหลาย คือเพลงส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเพลงพ็อปกระแสหลักที่มีกลิ่นอายของแนวเพลงสมัยนิยมจากต่างประเทศเข้ามาผสมผสาน เช่น พ็อป-อาร์แอนด์บี / พ็อป-บับเบิลกัม / พ็อป-แด๊นซ์ / พ็อปร็อก / บัลลาดพ็อป แม้จะมีรูปแบบเพลงอื่นแทรกอยูบ้าง แต่ไม่มีความหลากหลาย เพราะเพลงจากนักร้องทุกคนและทุกอัลบั้มล้วนดำเนินการผลิตจากทีมเขียนเพลงและผลิตเพลงของค่ายเป็นหลักใหญ่ทั้งหมด
แนวคิดในการทำเพลงของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่นั้น ย่อมอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจเป็นสำคัญ จึงเป็นช่องว่างสำคัญในการที่ Bakery Music ได้แทรกขึ้นมากลายเป็นค่ายเพลงทางเลือกที่ได้รับความนิยมและแตกต่างจากกระแสหลัก ก่อให้เกิดคำว่า ‘อินดี้’ (Indie – Independent) ขึ้นมาในตลาดเพลงไทย
นอกจากเป็นผู้บริหารหลัก 1 ใน 4 คนของ Bakery Music แล้ว บอย โกสิยพงษ์ ในอีกตัวตนหรืออีกพาร์ทหนึ่งก็คือ นักแต่งเพลง ด้วยพื้นฐานของการศึกษาที่เรียนจบด้านการแต่งเพลงและธุรกิจเพลงจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา บอยด์ จะเข้าใจในธุรกิจดนตรีและอุตสาหกรรมเพลงของตลาดเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็คือตลาดเพลงอเมริกาได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นตลาดเพลงที่มีความหลากหลายรอบด้านเป็นอย่างสูง เพื่อที่จะตอบสนองกลุ่มคนฟังทุกกลุ่มเพศและวัย ที่แตกต่างกันไป ไม่ผูกขาดอยู่ที่ตลาดเพลงยอดนิยมกระแสหลักเพียงอย่างเดียวเหมือนเมืองไทย อัลบั้มเพลงชุดแรกที่ทำออกมาของบอยด์ ‘Rhythm & Boyd’ จึงแหวกและแหกกฎที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ในวงการเพลงไทยช่วงนั้น
เขาจะเน้นผลงานที่นำเสนอความเป็นตัวตนของ บอยด์ โกสิยพงษ์ เป็นหลัก คือออกอัลบั้มในนามของ บอย โกสิยพงษ์ เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ให้แก่วงการเพลงเมืองไทยว่า ชื่อเจ้าของอัลบั้มคือผู้แต่งเพลงก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักร้องเสมอไป รวมถึงเป็นอั้ลบัมในแนวดนตรีอาร์แอนด์บีที่มีความเป็นพ็อปในเนื้อร้องภาษาไทยทั้งอัลบั้มเป็นอัลบั้มแรกของเมืองไทย
จากอัลบั้มนี้ บอยด์ ได้กลายเป็นเทรนด์ เซตเตอร์ หรือผู้นำกระแสดนตรีริธึมแอนด์บลูส์ให้ขึ้นเป็นดนตรีกระแสหลักในสมัยนิยมยุค 90s ของไทยได้ เพราะหลังจากอัลบั้มนี้ก็มีอัลบั้มแนวอาร์แอนด์บีจากนักร้องหลายๆ ค่ายออกมาตามกระแสนิยมของคนเพลงในช่วงนั้น

จาก 2 อัลบั้มแรกคือ ‘โมเดิร์นด็อก – เสริมสุขภาพ’ ของคณะดนตรีโมเดิร์นด็อก และอัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ ได้ทำให้นิยามของค่ายเพลงอิสระหรืออินดีในความหมายของวงการเพลงอเมริกาและอังกฤษในเมืองไทยปรากฏฉายชัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยก่อนหน้านี้ นอกจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย แล้วก็มีแต่ค่ายเพลงในแบบนายห้างและค่ายเพลงใต้ดิน
ดนตรีอิสระ (เรียกอีกอย่างว่าดนตรีอินดี หรือเรียกสั้นๆ ว่าอินดี้) มีความหลากหลาย ลักษณะเด่นคือความอิสระในการสร้างสรรค์ งบประมาณต่ำ และแนวทางการทำด้วยตนเองในการสร้างสรรค์ดนตรี ซึ่งเกิดจากอิสระที่ค่ายเพลงอิสระมอบให้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเพลงอินดี โดยมีลักษณะการดำเนินงานที่เล็กกว่า เงินทุนน้อยกว่า และอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่
ค่ายเพลงอิสระใช้ช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย โดยค่ายเพลงส่วนใหญ่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการบันทึกเสียง ค่ายเพลงเหล่านี้มักจะให้เงินล่วงหน้าจำนวนน้อย หรือบางครั้งก็ไม่ให้ล่วงหน้า และบางค่ายอาจให้ส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ที่สูงกว่าค่ายเพลงใหญ่
แม้ว่าคำว่า ‘อินดี้’ จะถูกใช้ครั้งแรกเพื่ออธิบายเพลงที่ออกโดยค่ายเพลงอิสระ แต่คำนี้ก็เริ่มใช้เรียกแนวเพลงเฉพาะเนื่องจากคณะดนตรีและนักร้องมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน สามารถควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้มากกว่าเมื่อเทียบกับค่ายเพลงใหญ่ แม้จะมีมีงบประมาณจำกัดก็ตาม โดยมักจะมีเนื้อเพลงที่จริงใจและกระตุ้นอารมณ์
บอยด์ โกสิยพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการก่อเกิด ‘เบเกอรี ซาวด์’ ซึ่งเป็นเพลงพ็อปในแบบค่ายเพลงเบเกอรีว่า การแต่งเพลงจะเริ่มจากคิดคอนเซ็ปต์ก่อน แล้วไปแต่งเพลงที่เปียโนบ้าง กีตาร์บ้าง โปรแกรมกลองบ้าง โดยขั้นสุดท้ายมีทีมดนตรีทำโปรดัคชันให้ตรงกับที่เขาอยากได้
บุคลิกเพลงของบอยด์เองและนักร้องในค่ายที่ผู้ฟังและสื่อมวลชนขนานนามว่าเป็นเพลงแนวเบเกอรีนั้น บอยด์สรุปว่าเป็นแนวพ็อป โซล (Pop Soul) ในยุคเริ่มต้น Bakery Music บอยด์ บอกว่า สมัยก่อนไม่ต้องทำอะไรเลย ก็จะแต่งแต่เพลงอย่างเดียว มากที่สุดที่เคยแต่งเพลงได้ คือ 4 เพลงต่อวัน แบบแต่งจบ ทั้งเนื้อ ทั้งทำนอง ปีหนึ่งทำเพลงมากกว่า 300 เพลง แล้วเพลงก็ประสบความสำเร็จมีเพลงดังเยอะมาก นี่คือการบ่มเพาะจากการเรียนโปรแกรม Songwriting, Electronics Music และ Music Business ที่มหาวิทยาลัย UCLA (University of California at Los Angeles) สหรัฐอเมริกา
แน่นอน ความสำเร็จย่อมมีอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ อัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ กว่าจะสำเร็จได้บอยด์ต้องใช้เงินถึง 3 ล้านบาท จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากเงินทุนจำนวน 1 ล้านบาท และล้านที่ 2 ก็ตามมา ด้วยงบที่บานปลายจากการที่ไปทำงานบันทึกเสียงกันที่สหรัฐอเมริกา แต่ทุกอย่างเกือบสลายหายไปกับลม เพราะรถยนต์ที่เก็บเดโมอัลบั้ม ‘Rhythm & Boyd’ ที่เขาตั้งใจทำมานานกว่า 6 เดือน ได้ถูกโจรอเมริกางัดไปจากท้ายรถ แต่โชคดีที่บอยด์ได้เงินทุนล้านที่ 3 ที่ยืมจากแม่อีกครั้ง อัลบัมนี้จึงสำเร็จ
เบเกอรี่ มิวสิค กว่าที่จะตั้งไข่ได้มีเรื่องราววิบากกรรมมากมาย ยังเหลืออีก 3 ธาตุดนตรีและธุรกิจของคน 3 คน ที่หลอมเคมีกันในช่วงเวลาเพียง 3 ปี ที่พวกเขาร่วมมือกันพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการเพลงไทยไปตลอดกาล ด้วยความเป็นค่ายเพลงอินดี ความอิสระเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุค 90s ของไทย