Indy Mania By พอล เฮง คอลัมน์ที่จะพาย้อนกลับไป ช่วงการปะทุและระเบิดของเพลงไทยนอกกระแส ในช่วงทศวรรษที่ 90
“เศรษฐกิจฟองสบู่ การเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทยที่แตกกระจายไปสู่ยุค Indy Mania กับการก่อเกิดค่ายเพลงอิสระเล็ก ๆ มากมาย เบ่งบานยิ่งกว่าดอกเห็ดหน้าฝน แต่อายุสั้นเช่นเดียวกับฟองสบู่ของเศรษฐกิจ โมเดลหรือแบบอย่างซึ่งเป็นกรณีศึกษาได้ดีที่สุดคือ ค่ายเพลง Bakery Music ที่ทำให้เห็นการก่อเกิดสู่ความรุ่งเรืองและความร่วงโรยสู่การแตกดับ”
เมื่อกล่าวถึง ‘Indy Mania’ หรือการมาถึงของค่ายเพลงอิสระเล็กๆ ที่ผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดในหน้าฝน บานสะพรั่งด้วยหลากหลายสายพันธุ์ทางแนวดนตรี ก่อเกิดในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของอุตสาหกรรมดนตรี คาบเกี่ยวยุค 90s (พ.ศ.2533-2542)
ยุค Indy Mania เดินคู่ไปกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (Economic Bubble) ซึ่งเกิดจากภาวะราคาของสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเก็งกำไร ไม่สอดคล้องกับมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเมื่อฟองสบู่แตกทำให้ราคาสินทรัพย์นั้นปรับลดลงอย่างรวดเร็ว
วงการเพลงไทยในยุคนั้น เมื่อเจอสภาวะฟองสบู่แตก ค่ายเพลงเล็กๆ อิสระ ก็ล้มหายตายจากไปแบบระเนระนาดอย่างมิอาจย้อนคืน
เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในยุคค่าเงินกำหนดไว้ที่ 25 บาทต่อดอลลาร์ การเปิดเสรีทางการเงินทำให้สามารถพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศได้สะดวก โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
แต่การกู้เงินมาเก็งกำไรและลงทุนเกินตัว ทำให้เกิดฟองสบู่ในธุรกิจต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ เมื่อรวมกับความไม่มีประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน การกำกับดูแลการดำเนินนโยบายอย่างหละหลวม เมื่อเกิดการโจมตีค่าเงินบาท ก็ทำให้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ในปี 2540
ก่อนหน้านั้นในปี 2537 ช่วงท้ายๆ ของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโต ต้นปี 4 มกราคม 2537 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พุ่งถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,753.73 จุด และในปีนั้นก็มีการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 4 กันยายน ซีคอนสแควร์ เปิดให้บริการบนเนื้อที่ 77 ไร่ ริมถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร
28 ตุลาคม โลตัส เปิดให้บริการสาขาแห่งแรกที่ซีคอนสแควร์ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น เทสโก้ โลตัส ในปี 2541 หลังจากกลุ่มเทสโก้จากอังกฤษเข้าซื้อกิจการ นอกจากนี้ ภาคบริการทางการเงิน เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการก็เปิดในปีนี้เช่นกัน
ปีเดียวกันนั้นเองค่ายเพลง Bakery Music ออกอัลบั้มชุดแรก คือ อัลบั้ม ‘โมเดิร์นด็อก’ ของคณะดนตรีโมเดิร์นด็อก (ModernDog) ซึ่งเป็นคณะดนตรีของนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชนะเลิศการประกวดโค้ก มิวสิคอวอร์ด ประจําปี 1992 โดยวางจําหน่ายในวันที่ 9 กันยายน 2537
(อัลบั้มแรกเปิดตัวชุดนี้ของ โมเดิร์นด็อก มักถูกเข้าใจผิดว่าชื่ออัลบั้ม ‘เสริมสุขภาพ’ เนื่องจากคำนี้ปรากฏเด่นหราอยู่บนหัวมุมขวาของปกอัลบั้ม ซึ่งได้รับการยืนยันจากทีมออกแบบปกที่นำทีม โดย วรุตม์ ปันยารชุน ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพประกอบบนปกไม่ใช่ชื่ออัลบั้ม)

ส่วนจุดเริ่มต้นของค่ายเพลง Bakery Music ย้อนกลับไปในก่อนหน้านั้น 2 ปี ในปี 2535 ชีวิน โกสิยพงษ์ หรือชื่อในวงการเพลง บอยด์ โกสิยพงษ์ (Boyd Kosiyabong) หลังจากสำเร็จการศึกษาในด้านธุรกิจดนตรี (Music Business) จากยูซีแอลเอ (University of California at Los Angeles – UCLA) สหรัฐอเมริกา เขากลับมาเมืองไทยเปิดบริษัทโปรดักชันเฮาส์รับทำเพลงโฆษณา
ต่อมาได้ร่วมทุนทางธุรกิจกับเพื่อนอีก 3 คนคือ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์, สาลินี ปันยารชุน และ กมล สุโกศล แคลปป์ ตั้งบริษัท Bakery Music ขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2537 ด้วยทุนจด ทะเบียน 3,000,000 บาท มี สุกี้ – กมล สุโกศล แคลป์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 40 เปอร์เซ็นต์รับผิดชอบในส่วนของดนตรีและติดต่อธุรกิจ
สาลินี ปันยารชุน ดีเจชื่อดังจากมีเดียพลัส ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ นั่งตําแหน่งผู้จัดการทั่วไปรับผิดชอบในเรื่องของการจัดการและอาร์ติส ดิเวลล็อปเมนท์
สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ รับผิดชอบด้านโปรโมชัน ครีเอทีฟ และมาร์เกตติง รวมทั้งดนตรี
ชีวิน โกสิยพงษ์ ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ รับผิดชอบด้านดนตรี ดูแลลิขสิทธิ์ของเพลงและการตลาด
ช่วงแรกมีการดําเนินงานผลิตงานเพลงโฆษณาให้กับบริษัทโฆษณาหลายตัว อาทิ สินค้าภายใต้แบรนด์ ไมโล กรีนเวย์ ยูไนเต็ด ใบมีดโกนยิลเล็ต ห้างเซ็นทรัล เซเว่น-อีเลฟเว่น ห้องอาหารสีฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังทําเพลงประกอบแฟชันโชว์ ของฟลาย นาว ครบรอบ 10 ปี มีการผลิตเป็นซีดีสําหรับลูกค้า และแขกที่มาร่วมงาน รวมทั้งทําอัลบั้ม ‘เวิร์ลด์ คัพ รีมิกซ์’ ของฟุตบอลโลก 1994 ซึ่งจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ให้กับค่ายเพลงอีเอ็มไอ ประเทศไทยด้วย
เมื่อเปิดย้อนอ่านข่าวธุรกิจในปีนั้น พบว่า Bakery Music โปรดักชัน ปรากฏข่าวในช่วงดำเนินงานยุคแรกว่า ‘ทายาทสุโกศล ขยายฐาน เบเกอรีมิวสิค’ บริษัทผลิตเพลงโฆษณาน้องใหม่ในเมืองไทยขยายฐาน หลังก่อตั้งได้ 6 เดือน เตรียมรุกให้บริการในตลาดอเมริกาและยุโรป ด้วยจุดขายคุณภาพและความพร้อมของงาน
จากนั้น มีแผนจะบุกตลาดเยอรมนี อิตาลี ต่อเนื่อง เพราะเห็นว่ายังมีช่องทางการทำตลาดอยู่มาก โดยตั้งเป้ายอดบิลลิงปีนี้ 10-12 ล้าน บาท คาดว่าภายใน 2-3 ปี จะคุ้มทุน บริษัทมีนโยบายการทำตลาดโดยใช้วิธีไดเร็กต์เจาะกลุ่มลูกค้าโดยตรง รายได้หลักของบริษัท ปัจจุบันได้แก่ การผลิตเพลงโฆษณาให้กับลูกค้า คิดอัตราค่าโฆษณา 80,000 บาทต่อ 1 ชิ้นงาน ซึ่งถ้าหากสามารถทำได้ 2 ชิ้นงานต่อเดือน บริษัทก็สามารถอยู่ได้
รายได้รองลงมาได้จากการผลิตเทปเพลง กำหนดเป้าหมายผลิต 7 ชุด ต่อปี ส่วนที่เหลือคือ รายได้จากการ เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และลิขสิทธิ์ของนักแต่งเพลงศิลปินในสังกัด โดยบริษัทจะได้รับ 30-50 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ความมีชื่อเสียงของศิลปิน นอกจากนี้ยังมีรายได้ 2 เปอร์เซ็นต์ จากการทำเนื้อร้องการแต่งเพลง และอีก 2 เปอร์เซ็นต์จากทํานองเพลง
สําหรับงานเพลงอัลบั้มชุดแรกที่คือ คณะดนตรีโมเดิร์นด็อก แรกเริ่มจาก บอยด์ โกสิยพงษ์และเพื่อน มีโอกาสทำเพลงให้กับคณะดนตรีของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อคณะว่า โมเดิร์นด็อก ซึ่งชนะเลิศการประกวดโค้ก มิวสิคอวอร์ด ประจําปี 1992 เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทำเพลง บอยด์และเพื่อน รวมทั้งสมาชิกทั้งหมดของคณะโมเดิร์นด็อกเอง มีความเห็นตรงกันว่าจะไม่ขายงานผ่านค่ายเพลงแต่จะดำเนินการทางด้านการตลาดเองและนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของบริษัท Bakery Music ในเวลาต่อมา
จากนั้นค่ายเพลง Bakery Music ก็ปักหมุดในวงการเพลงไทย ในฐานะค่ายเพลงอิสระเล็กๆ หรือค่ายอินดี้ในความหมายของอุตสาหกรรมเพลงต่างประเทศ ด้วยยอดขายอัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นจำนวนหลายแสนตลับในยุคเทปคาสเซ็ท แม้ไม่มีต้นทุนมหาศาลจากการผลิตและโฆษณาเหมือนค่ายเพลงยักษ์ใหญ่
ความสำเร็จนั้น เป็นการเปิดประตูโอกาสที่เป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ ของค่ายเพลงอินดี้ในตลาดเพลงไทยอย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นแบบอย่างหรือพิมพ์เขียวให้ค่ายเพลงอิสระเล็กๆ ของเมืองไทยก่อตั้งตามมาอีกมากมาย
แต่ตำนานบทนนี้ถูกเขียนขึ้นและสิ้นสุดลงในอีก 3 ปีต่อมา…. หลังจากฟองสบู่เศรษฐกิจของไทยแตกและเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540