ภาพจำของคนที่เคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นสำหรับเด็กผู้หญิง คือตัวละครทั้งชายและหญิงมี ดวงตากลมโตสีฟ้า ผมสีบลอนด์ เหมือนชาวต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากคนญี่ปุ่น จนถูกเรียกว่า “การ์ตูนตาหวาน” เพราะเหตุใดคนญี่ปุ่นจึงวาดการ์ตูนลักษณะชาวตะวันตกเช่นนั้น ?
การปรากฎของค่านิยมการวาดภาพตัวการ์ตูนในลักษณะดังกล่าว พบในศตวรรษที่ 20 หรือในช่วง 100 กว่าปีที่แล้ว ในการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง ที่เรียกว่า “โชโจ มังงะ” โดยรูปแบบของการ์ตูนสำหรับเด็กในสมัยก่อนจะแยกชัดเจนระหว่างการ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิง และการ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย
อ.ฟุจิโมะโตะ ยูคาริ ศาสตราจารย์ด้านญี่ปุ่นศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวในงานเสวนา “โชโจ มังงะ : ประวัติศาสตร์ พลังและอิทธิพลของการ์ตูนผู้หญิงในญี่ปุ่น และแนวโน้มใหม่ในเมืองไทย” โดยเจแปนฟาวน์เดชั่น ว่า จุดเด่นของโชโจ มังงะ คือการวาดภาพปกและภาพประกอบสี และนิยายภาพภายในเล่มที่สวยงาม การวาดภาพในการ์ตูนเด็กผู้หญิงนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญของการ์ตูนญี่ปุ่น โดยนักวาดชื่อดังในยุคนั้นคือ ยูเมะจิ ทาเคฮิซะ และ คาโซ ทาคายะทาเคะ ซึ่งยังคงวาดการ์ตูนที่มีรูปลักษณ์เหมือนคนเอเชียอยู่
กระทั่งในรัชสมัยไทโช หรือ เทียบเท่าสมัยรัชกาลที่ 6 ในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคอาร์ต เดคโค่ ที่ผสมผสานรูปแบบที่ทันสมัยเข้ากับงานฝีมือชั้นดี กระทั่งในรัชสมัยโชวะ ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การ์ตูนเด็กผู้หญิงเริ่มวาดตัวละครที่มีดวงตากลมโต น่ารัก ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง จุนอิจิ นากาฮาระ กับตัวการ์ตูนหญิงสาวที่แต่งกายอย่างมีรสนิยม พิถีพิถัน ในเครื่องแต่งกายแบบตะวันตก
แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติตะวันตกนับเป็นศัตรู โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในยามสงคราม ความฟุ่มเฟือยต่างๆ ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคข้าวยากหมากแพง ทำให้ภาพวาดของ จุนอิจิ นากาฮาระ ถือเป็นสิ่งต้องห้าม รัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่รูปภาพที่แสดงถึงค่านิยมตะวันตก มีการส่งหนังสือตักเตือนสำนักพิมพ์ที่มีรูปวาดตัวการ์ตูนคล้ายชาวตะวันตกออกมา
กระทั่งยุคหลังสงคราม ภาพวาดของจุนอิจิ นากาฮาระได้รับความนิยมอีกครั้ง และมีหนังสือโชโจ มังงะ หรือการ์ตูนเด็กผู้หญิงเล่มใหม่ ๆ เกิดขึ้น มีการวาดภาพดวงตาให้กลมโตยิ่งกว่าเดิม มีลักษณะดวงตาจ้องตรงมาที่ผู้อ่าน รวมถึงเพิ่มภาพวาดสไตล์ “กะ” ที่มีการนำเสนอภาพแฟชั่น สไตลลิ่งการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหน้าผมแบบตะวันตกอีกด้วย
ส่วนนักวาดชื่อดังคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากจุนอิจิอย่างมาก คือ มาคาโตะ ทาคาฮาชิ ที่ภาพวาดของเขาได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปี 1960-1970 กับตัวการ์ตูนผู้หญิงที่มีดวงตากลมโต และมีประกายระยิบระยับอย่างมาก จนได้รับการพิมพ์บนเครื่องเขียน กล่องสี และตุ๊กตากระดาษ สไตล์การวาดของนักวาดท่านนี้ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการวาดภาพในโชโจ มังงะ ต่อมา
กระทั่งสิ้นทศวรรษที่ 1950 เริ่มมีนักวาดผู้หญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีนักวาดชื่อดังหลายคน อาทิ มากิ มิโยโกะ , มาซาโกะ วาตานาเบะ, มิซูโนะ ฮิเดโกะ รวมถึงเกิดการรวมตัวของกลุ่มนักวาดผู้หญิงขึ้นมา ทำให้ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทในฐานะศิลปินและนัดวาดอย่างชัดเจน และเริ่มสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ขึ้นมามากมาย
อาจารย์นากาอิเกะ ผู้ศึกษาเรื่องมังงะ ป๊อปคัลเจอร์ เพศสภาพและเพศวิถีศึกษา มหาวิทยาลัยโออิตะ ประเทสญี่ปุ่น กล่าวว่า การ์ตูนเด็กผู้หญิงในยุคหลังเริ่มมีการข้ามพรมแดนเพศและสรีระ จากจุดเริ่มต้น คือการ์ตูนเรื่อง “เจ้าหญิงอัศวิน” ซึ่งถือเป็นฐานของการเล่าเรื่องเพศวิถีที่แตกต่าง เมื่อเจ้าหญิงต้องสืบทอดบัลลังก์แทนเจ้าชาย มีการแต่งกายข้ามเพศ ทำให้เด็ก ๆ ในยุคนั้น เริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องเพศวิถีและเพศสภาพของตนเอง
หรือการ์ตูนเรื่อง “กุหลาบแวร์ซาย” ที่ทหารหญิงชื่อ “ออสการ์” แต่งกายข้ามเพศ มีพละกำลังแบบผู้ชาย แสดงถึงการข้ามเส้นต้องห้ามเรื่องเพศแบบเดิม ๆ การ์ตูนเหล่านี้ก็มีอิทธิพลทำให้ เกิดการสร้างตัวละครเด็กผู้ชายที่มีใบหน้าสวยงาม มีความอ่อนหวาน ลดทอนความเป็นชายลง ถือเป็นอีกรูปแบบของการต่อต้านกดทับสังคมชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น ที่ผู้หญิงคาดหวังว่าต้องดูแลตัวเองเพื่อความงามและมีความเป็นแม่
จุดที่ชัดเจนคือช่วงปี 1990 เกิดการ์ตูนแสดงความสัมพันธ์ชายรักชาย ที่เรียกว่า ยาโอย (Yaoi) หรือ Boy’s Love ขึ้นมา รวมถึงฉายภาพแง่มุมที่ผู้หญิงเคยอดกลั้น เช่น มีตัวละครชายที่ถูกข่มขืน หรือตกเป็นเหยื่อต่อความรุนแรงได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับการเกิดการ์ตูนหญิงรักหญิง หรือ ยูริ (Yuri) ที่ฉากส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียนหญิงล้วน เช่น การตูนเรื่อง Approcah หรือ การ์ตูนที่ผู้หญิงมีบทบาท มีความเก่งกล้ามากขึ้น เช่น เซเลอร์มูน ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของการ์ตูนยูริในยุคต่อมา จึงอาจกล่าวได้ว่า “โชโจ มังงะ” หรือการ์ตูนเด็กผู้หญิง เป็นรากฐานของทั้งการ์ตูนยาโอย หรือ ชายรักชาย และ ยูริ หรือ หญิงรักหญิง ในยุคต่อมา