“นวนิยายต้นฉบับของเรื่องด้ายแดงเปรียบดังคำพยากรณ์ว่าสมรสเท่าเทียมจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แม้ว่าตอนนั้นตัวละครบอกว่าจะไปแต่งงานกันที่สหรัฐอเมริกาก็ตาม”
โปรเจกต์พิเศษ 10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย เจาะลึกประเด็นสังคม วัฒนธรรมการเมือง พลวัตวายไทยและวายข้ามชาติผ่านมุมมองของ นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กำลังรอโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ จากผลงานทางวิชาการด้าน Boys’ Love คนแรกของประเทศ EP 3 ด้ายแดง Until We Meet Again
10 ปี 10 ซีรีส์วายไทย EP 3 ด้ายแดง Until We Meet Again
ด้ายแดง Until We Meet Again นำเสนอเรื่องราวของ “กรณ์” รับบทโดย เก้า นพเก้า เดชาพัฒนคุณ และ “อินทัช” รับบทโดย เอิร์ธ กัษมนณัฏฐ์ นามวิโรจน์ ทั้งสองคนรักกัน แต่สังคมและครอบครัวไม่ยอมรับทำให้กรณ์ และอินทัช ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไป กรณ์ ได้มาเกิดเป็น “ภาม” รับบทโดย ฟลุ๊ค ณธัช ศิริพงษ์ธร ส่วนอินทัช เกิดใหม่เป็น “ดีน” รับบทโดย โอห์ม ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ ทั้งคู่ได้กลับมาพยกันอีกครั้ง ด้วยความสัมพันธ์จากด้ายแดงที่เป็นความเชื่อว่าจะผูกทั้งสองไม่ให้จากกัน
นัทธนัย กล่าวว่า ซีรีส์ด้ายแดง Until We Meet Again ถูกดัดแปลงจากนวนิยาย โดยนักเขียนที่มีนามปากกาว่า Lazysheep ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในแฟลตฟอร์มออนไลน์ ฉบับพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อดัดแปลงเป็นซีรีส์ก็เคารพต้นฉบับ เพราะมีเนื้อหาหรือตัวโครงเรื่องหลักผูกกับนวนิยายอย่างชัดเจน และเป็นซีรีส์ที่เริ่มการนำเสนอเรื่องราวความรักแบบรักโศก เมื่อเปรียบเทียบกับ Love Sick The Series จะเป็นความพยายามที่จะค้นหาตัวเอง หรือ SOTUS The Series ที่มีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ของเราต้องเป็นความลับ แต่ว่าในด้ายแดงมีลักษณะ traumatic กว่านั้นเพราะว่านวนิยายต้นฉบับพูดถึงการข้ามภพข้ามชาติของตัวละคร และชาติเดิมของตัวละครจบด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม เนื่องจากสองบ้านไม่ถูกกัน เรื่องราวจบด้วยโศกนาฏกรรมเหมือนในเรื่องโรมิโอกับจูเลียต
เมื่อตัวละคร “กรณ์” และ “อินทัช” เกิดใหม่เป็น “ภาม” และ “ดีน” ทั้งสองตัวละครก็ได้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน และเกิดความรักต่อกันอีกครั้ง แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความขัดแย้งที่พบในโครงเรื่องหลักของตัวซีรีส์ คือตัวละครที่เกิดมาในชาติใหม่รักกันเพราะว่าเขาเคยผูกพันกันในชาติก่อน หรือเป็นความรักที่เกิดขึ้นในชาติใหม่ของคนใหม่กันแน่ แต่สุดท้ายซีรีส์เรื่องนี้ก็จบลงที่ความสุข ตัวละครทั้งสองตัวนี้ก็ได้รักกัน
มิติทางสังคม ด้ายแดง Until We Meet Again
ในแง่มิติสังคมซีรีส์เรื่องด้ายแดง ยังคงเดินตามขนบเดิมที่นักวิชาการเรียกว่า “โอโด” ในภาษาญี่ปุ่น คือตัวละครจะไม่พูดถึงเพศวิถีของตัวเองในฐานะที่เป็นเกย์ เมื่อตัวละครเกิดมาชาติใหม่ไม่ใช่เพื่อยืนยันอัตลักษณ์เกย์ของตัวเอง แต่เพื่อที่จะรักกันเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์ว่า ซีรีส์วายยังไม่สามารถที่จะส่งเสริมสถานภาพหรือว่าสนับสนุนอัตลักษณ์ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ว่านี่คือช่วงแรกก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2563
ประเด็นที่น่าคิดจากซีรีส์เรื่องด้ายแดง ถ้าย้อนกลับไปอ่านนวนิยายต้นฉบับในเล่มพิเศษ จะมีฉากที่ตัวละครสองตัวนี้ได้แต่งงานกัน ก่อนที่จะเกิดสมรสเท่าเทียมในปี 2567 ดังนั้นนวนิยายต้นฉบับของเรื่องด้ายแดงเปรียบดังคำพยากรณ์ว่าสมรสเท่าเทียมจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แม้ว่าตอนนั้นตัวละครบอกว่าเราจะไปแต่งงานกันที่สหรัฐอเมริกาก็ตาม
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์ด้ายแดง ได้รับความสนใจจากแฟนนานาชาติอย่างมาก ก็คือองค์ประกอบแบบโหยหาอดีต มีบรรยากาศแบบยุค 90 เช่นการปรากฏเพลงของ แอม – เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ทั้งในนวนิยายและซีรีส์ หรือว่า ภาม ตัวละครที่สามารถทำอาหารไทยที่มีลักษณะวิจิตรอย่างมากได้ และอีกหนึ่งลักษณะเด่นที่มักพบในซีรีส์วายไทย มากกว่าสื่อ LGBTQ ต่างประเทศคือประเด็นเรื่องครอบครัว ซึ่งเราจะพบว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญทั้งชาติก่อนและปัจจุบัน ในการโอบรับความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และยังพบความเชื่อมโยงกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม ที่มีการคัดเลือกนักแสดงคือการคัดเลือกนักแสดงอย่าง นก – สินจัย เปล่งพานิช และ กบ – ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี มารับบทพ่อและแม่ของตัวละคร ถือว่าเป็นกิมมิคอีกอย่างหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้ที่ทำให้ผู้ชมติดตามอุตสาหกรรมวายมองเห็นเป็น Easter egg ให้นำมาถกเถียงกันกันว่าสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในประสบการณ์รับชมของเราได้
นอกจากนี้เราจะพบว่ากลุ่มแฟนที่ติดตามซีรีส์วายจะติดตามเพลงประกอบซีรีส์ด้วย เช่นกรณีของ บอย – สมภพ โภคพูล เป็นนักร้องและนักแต่งเพลงหลัก ทั้งใน Love Sick The Series และซีรีส์เรื่องด้ายแดง จึงพบว่า บอย สมภพ ในฐานะนักแต่งเพลงและนักร้อง สามารถมีคอนเสิร์ตของตัวเองในประเทศญี่ปุ่นด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมวายมีหลายองค์ประกอบทั้งการดัดแปลงนวนิยายต้นฉบับเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์กับนักเขียนส่งผลต่อโปรดักชั่นของซีรีส์ และนักเขียนบางคนยังมีส่วนร่วมในการคัดเลือกนักแสดงบางเรื่องด้วย
“เมื่อเราพิจารณาอุตสาหกรรมวาย อยากให้พิจารณาองค์ประกอบหลายๆ อย่างนอกเหนือจากอุตสาหกรรมวายที่อ้างอิงจากการดัดแปลงนวนิยายเป็นซีรีส์ เราก็จะเห็นว่ามีเพลงประกอบ มีการสร้างดารา และต่อมาเราก็เห็นว่ามีการหยิบเอานักแสดงจากซีรีส์วายไปเป็นพรีเซนเตอร์ หรือว่าเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่เราจะพบได้มากในช่วงหลัง”